มุมสนทนา

 

 

ตายแล้วไปไหนดี

พล.ต.ต.นพ.ชุมศักดิ์ พฤกษาพงษ์



                   ปัญหาที่ยิ่งใหญ่ ที่สุดในวงการแพทย์ขณะนี้น่าจะหนีไม่พ้นประเด็นที่ว่าวิทยาการก้าวหน้าทำให้ วงการแพทย์ประสบความสำเร็จสูงสุดในการปลูกถ่ายอวัยวะ ทำให้มนุษย์เกิดศักยภาพสูงยิ่งในการช่วยชีวิตผู้ป่วยด้วยโรคที่ทำให้อวัยวะ สำคัญล้มเหลวจนต้องเปลี่ยนให้ใหม่  แต่วงการแพทย์ก็เผชิญอุปสรรคสำคัญคือการหาอวัยวะสดๆมาบริจาค เริ่มจากการที่ไม่สามารถใช้อวัยวะที่อยู่ในคนที่ตายไปนานแล้ว  อย่างดีที่สุดที่ทำได้คือขออวัยวะบริจาคจากคนที่สมองตายซึ่งกฎหมายของหลาย ประเทศยังไม่ถือว่าเป็นการตายจริงๆ และยังขัดความรู้สึกของคนทั่วไปว่าจะตายได้อย่างไรถ้าหัวใจยังเต้นอยู่  ข้อสำคัญคือหลายคนมีความเชื่อว่าถ้าตายไปโดยอวัยวะขาดหายจะทำให้มีปัญหาใน ชาติต่อไปหากเขากลับมาเกิดใหม่
                    โดยสรุปคือถ้ามีอวัยวะบริจาคจากคนสมองตายได้มากขึ้นจะมีคนทั่วโลกที่มีชีวิตต่อไปได้ปีละหลายแสนคน          ถ้าไม่มีประเด็นทางศาสนาหรือวัฒนธรรมความเชื่อส่วนบุคคลแล้ว คนเราเมื่อตายไปแล้วเนื้อเยื่อก็จะเน่าเปื่อยไม่ก่อประโยชน์ใดๆอีกเลย  ถ้าสังคมโลกจะร่วมกำหนดกติกาเสียใหม่ว่าหากเกิดเจ็บป่วยแล้วสมองตายขึ้นมา ให้ร่างกายนั้นเป็นสมบัติของเพื่อนร่วมโลกก็จะมีผู้ป่วยได้อานิสงส์ทั่วโลก ปีละนับแสน ทั้งนี้เพราะว่าวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังไม่ก้าวหน้าขนาดสร้างอวัยวะเทียมได้ เนื่องจากธรรมชาติของอวัยวะต่างๆมีความสลับซับซ้อนมากอย่างตับ,ไต,หัวใจ, ปอด,ตับอ่อน,ลำไส้ ยังทำเทียมด้วยขนาดไล่เลี่ยกันไม่ได้ ตับเทียมจึงอาจมีขนาดเท่าบ้านหลังใหญ่จึงจะทำหน้าที่ได้ทัดเทียมตับจริง

                     สิงคโปร์ เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีกฎหมายที่เอื้อต่อการปลูกถ่ายอวัยวะมาก กล่าวคือถ้าคนสิงคโปร์ไม่ได้แจ้งปฏิเสธการบริจาคอวัยวะไว้ในบัตรพกติดตัว   หากเกิดตายทันทีหรือเกิดสมองตายแล้วรัฐจะถือว่าผู้นั้นอนุญาตให้ใช้อวัยวะ ของเขาได้      ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธจึงน่าจะทำได้อย่างน้อยเท่าสิงคโปร์ แต่ความที่ตื่นตัวเรียกร้องสิทธิกันเสียจนกุศลจิตเสื่อมถอยไปตามๆกัน

                      ร้อน ถึงผู้หวังดีหาทางออกโดยร่างกฎหมายว่าด้วยการบริจาคอวัยวะและเนื้อเยื่อหลัง การตายเพื่อประโยชน์ในการรักษาพยาบาล แล้วหาทางผลักดันให้เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติผ่าน กรรมาธิการสาธารณสุข ร่างกฎหมายฉบับนี้มีเพียง 7 มาตรา ข้อความที่สำคัญจะปรากฏอยู่ในมาตรา 4,5 และ 6 ดังนี้คือ

มาตรา 4 ผู้ประสงค์จะบริจาคอวัยวะหรือเนื้อเยื่อของตนหลังตายเพื่อประโยชน์ในการรักษาพยาบาล ต้องแสดงความจำนงในหนังสือ
ใน กรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งไม่ได้แสดงความจำนงไว้ก่อนตาย สามีหรือภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้พิทักษ์ ผู้อนุบาลหรือญาติของผู้ตายอย่างน้อยหนึ่งคนมีสิทธิแสดงความจำนงเป็นหนังสือ เมื่อบุคคลนั้นถึงแก่ความตายได้ โดยไม่รับสิ่งตอบแทนใดๆเป็นค่าอวัยวะ
หลักเกณฑ์ วิธีการและขั้นตอนการบริจาคอวัยวะให้เป็นไปตามระเบียบที่สภากาชาดไทยประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของแพทยสภา

มาตรา 5 ในกรณีการตายโดยผิดธรรมชาติซึ่งต้องชันสูตรพลิกศพและแพทย์วินิจฉัยว่ามี อวัยวะเนื้อเยื่อที่อาจเป็นประโยชน์แก่การรักษาพยาบาล ซึ่งผู้ตายไม่ได้แสดงความจำนงในการบริจาคอวัยวะหรือเนื้อเยื่อตามมาตรา 4 ให้มีการแจ้งต่อหน่วยงานหรือองค์กรที่สภากาชาดไทย ประกาศกำหนดดำเนินการจัดเก็บรักษาและบันทึกการเก็บรักษาอวัยวะเนื้อเยื่อ นั้นไว้ รวมทั้งดำเนินการแจ้งและขอความยินยอมจากบุคคลตามมาตรา 4 วรรคสอง โดยมิชักช้า
หลักเกณฑ์และวิธีการจัดเก็บรักษาอวัยวะหรือเนื้อเยื่อให้เป็นไปตามระเบียบที่สภากาชาดไทยประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของแพทยสภา


มาตรา 6 ผู้กระทำการเก็บรักษาอวัยวะหรือเนื้อเยื่อจากผู้ที่ถึงแก่ความตาย ซึ่งปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและได้พ้นความรับผิดทั้งปวง

 

ผมขอเชิญชวนท่านสมาชิก, แพทย์ทั่วประเทศ และสาธุชนชาวไทยพิจารณาให้การสนับสนุนการผ่านกฎหมายฉบับนี้ เพื่อการทำบุญขั้นสูงสุดอันจะเป็นประโยชน์ของคนไข้ที่รอความตายเนื่อง จากอวัยวะสำคัญล้มเหลวจนไม่คืนสภาพ





 

จะเขียนผลงานวิชาการตีพิมพ์ระดับนานาชาติได้อย่างไร?

                เมื่อบ่ายวันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ผมทราบข่าวว่าจะมีการบรรยายเรื่อง “How to write scientific paper for successful submission to high impact journals” ที่อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ห้อง 150 ชั้น 12 ระหว่างเวลา 13.00 – 14.30 น. อันเป็นอาคารหลังใหม่เอี่ยมของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จึงแวะไปฟังดูว่ามีอะไรดีๆมาฝากท่านสมาชิกไหม ก็ปรากฏว่าผู้บรรยายเป็น Editor – in chief  ของ Journal of Ethno pharmacology หรือ JEP, อยู่ที่ IBL leiden ประเทศเนเธอร์แลนด์ ชื่อศาสตราจารย์ Robert Verpoote

                หัวข้อจริงๆที่ท่านพูดคือ “Publishing a Worldclass Scientific Paper” ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถ Download PDF power point presentation ประกอบได้ ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณคณาจารย์จุฬาฯผู้ดูแลเรื่องวิจัยที่จัดงานนี้พร้อมทั้งขอสไลด์จากท่านผู้บรรยายเผยแพร่ให้ผู้สนใจนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ในเว็บไชต์ research.md.chula.ac.th/new.html แล้วคลิกที่ download file 

                การนำเสนองานวิจัยมีได้ 3 รูปแบบคือ งานเขียน,โปสเตอร์ และการนำเสนอด้วยปากเปล่า แต่ในงานตีพิมพ์นั้นควรหลีกเลี่ยงงานวิจัยซ้ำ (duplication) แรงจูงใจที่จะกระตุ้นให้เรามีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารมีหลายประการ ตั้งแต่การเป็นคนชอบเขียน,การมีข่าวสารจะบอกเล่าเก้าสิบ,การชอบเป็นคนอภิปรายซักถาม,การใช้เป็นพื้นฐานการก้าวหน้าในชีวิตการงาน,การได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารด้านวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจเป็นต้น

 เขียนงานวิจัยแล้วไปตีพิมพ์ที่ไหนดี?

                วารสารแรกที่นึกถึงก็คงจะเป็นหนังสือวิชาการที่เพื่อนร่วมวิชาชีพสาขาเดียวกันเขาอ่านกัน ยิ่งถ้าได้วารสารอันดับชั้นนำก็ยิ่งดี  ดีที่สุดก็คงจะเป็นวารสารที่มี impact factor  สูงสุดและถ้าตีพิมพ์เผยแพร่งานของเราได้เร็วก็ยิ่งดี อาจารย์โรเบิร์ตได้พูดคุยถึงความแตกต่างระหว่าง open access กับ subscription model ว่าแบบแรกจะเข้าถึงได้ฟรี จำนวนผู้อ่านก็จะเยอะกว่า ปัจจัยสำคัญคงเป็น Impact Factor ซึ่งก็คือจำนวนการอ้างอิงผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์แต่ละปี  ปัจจัยนี้เป็นความพยายามของผู้บริหารวารสารที่จะใช้อ้างอิงหรืออวดอ้างคุณภาพแต่การมี impact factor สูงๆก็ไม่ใช่ว่าจะทำให้วารสารนั้นดีกว่าวารสารที่มี impact factor ต่ำ และบางวารสารอาจใช้วิชามารเพิ่มคุณค่าก็ได้อาทิเช่นชักชวนให้ผู้รายงานอ้างอิงงานของตัวเองเป็นต้น (อ่าน Slide : manipulation impact factor)

                JEP ที่อาจารย์โรเบิร์ตเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการนั้นถือได้ว่าเป็น world Class Journal เพราะมี impact factor ถึง 2.939 หมายความว่ามีจำนวนการนำ full text downloads เกือบ 2 ล้านครั้งต่อปีหรือกว่า 5,000 ครั้งต่อวัน อาจารย์โรเบิร์ตได้กล่าวถึงรูปแบบของบทความทางวิชาการตั้งแต่ full paper,จดหมายถึงบรรณาธิการ, short communication ไปจนถึง review article รูปแบบของบทความควรครอบคลุมหัวข้อที่สำคัญ,ชื่อเรื่องที่ไม่ควรยาวเกินไป,ไม่ใช้คำย่อ

                คุณสมบัติของผู้เขียนที่ไม่ควรจะมากคนจนเกินไป แต่ละคนต้องรับผิดชอบเนื้อหาที่ตนเกี่ยวข้อง,ถามความสมัครใจให้แน่ว่าจะร่วมมีชื่อเป็นผู้เขียนบทความหรือไม่,ผู้ที่ทำงานวิจัยเป็นหลัก (ส่วนใหญ่) สมควรจะเป็น first author แต่บางงานก็จะเรียงลำดับอักษรหรือให้คนที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานวิจัยเป็นชื่อแรก

                ตัวอย่างที่พบบ่อยๆคือผู้วิจัยหลักที่เป็นนักศึกษาปริญญาเอกหรือหลังปริญญาเอก มักจะเป็นชื่อแรกถ้ามีมากกว่า 1 ชื่อก็ต้องมี footnote ว่าแต่ละคนมีส่วนร่วมเท่าไร,อย่างไร Keywords เป็นองค์ประกอบสำคัญ ซึ่งวาสารส่วนใหญ่จะขอราว 5 Keywords รูปแบบของเอกสารอ้างอิงภาพประกอบและตารางโปรดดูสไลด์ประกอบ

 

ประเด็นจริยธรรมของการตีพิมพ์  เป็นเรื่องสำคัญที่วารสารต้องดูแลใกล้ชิด

Scientific Misconduct มีประเด็นการลอกเลียน (Plagiarism) ซึ่งพบทั่วโลกเช่นเดียวกับ Publication Misconduct

ผมขอเชิญชวนท่านผู้สนใจดูสไลด์ประกอบเพื่อให้ได้รายละเอียดที่ควรนำไปปฏิบัติเพิ่มเติม เพื่อนำไปสู่การเขียนรายงานส่งตีพิมพ์ในวารสารระดับโลก หรือในการพัฒนาวารสารที่ท่านดูแลอยู่ให้มีมาตรฐานสูงขึ้น

                                                                                                                                                                                                 พลตำรวจตรีนายแพทย์ชุมศักดิ์ พฤกษาพงษ์

                                                                                                                                                              กองบรรณาธิการ จพสท.

Visitors: 1,467,725